ประวัติศาสตร์ของการวิจัยทางคลินิก (Clinical Trial) ตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงปัจจุบัน

Evolution of Clinical Research

เคยสงสัยไหมว่ากว่าที่การวิจัยทางคลินิกและกระบวนการทดลองเวชภัณฑ์จะพัฒนาก้าวหน้าจนล้ำสมัยแบบในปัจจุบันต้องผ่านการลองผิดลองถูกมามากมายขนาดไหน วันนี้ Clinixir ขอพาทุกคนย้อนอดีตไปสำรวจดูวิวัฒนาการของการวิจัยทางคลินิกตลอดระยะเวลาหลายพันปีที่ผ่านมากันดีกว่า 

500 ปีก่อนคริสตศักราช 

หลักฐานด้านการวิจัยและทดลองยารักษาครั้งแรกในประวัติศาสตร์ถูกบันทึกไว้ภายใน Book of Daniel หนึ่งในคัมภีร์ไบเบิลของศาสนาคริตส์ โดยเล่าเรื่องราวว่าสมัยยุคเมโสโปเตเมียโบราณ กษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์แห่งอาณาจักรบาบิโลน ทรงสั่งให้ข้าราชบริพารทานแต่เนื้อสัตว์กับไวน์เท่านั้น เพราะเชื่อว่าจะทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง

อย่างไรก็ตาม เหล่าเชื้อพระวงศ์ชายในราชสำนักที่ชื่นชอบทานผักผลไม้หลายคนต่างออกเสียงคัดค้าน กษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์จึงอนุญาตให้พวกเขาสามารถทานพืชตระกูลทั่วต่าง ๆ และน้ำเปล่าได้เป็นระยะเวลา 10 วัน หลังการทดลองจบลง ผลปรากฎว่าคนกลุ่มหลังกลับดูมีสุขภาพแข็งแรงมากกว่า สุดท้ายพระองค์จึงปล่อยให้ประชาชนสามารถทานอาหารครบหมวดหมู่ตามใจชอบได้ต่อไป

ภาพวาดกษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์ทรงพิจารณาสวนลอยแห่งบาบิโลน (Hanging Gardens of Babylon)

คริสต์ศตวรรษที่ 11

ต่อมาในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1001 – 1100 หรือสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 11 นวัตกรรมด้านการแพทย์และการพัฒนายารักษาก้าวหน้าในหลายพื้นที่ทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศจีน Song Su ขุนนางที่มีชื่อเสียงโด่งดังทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ การทูต และการทหาร ได้เขียนตำราแพทย์ Ben Cao Tu Jing โดยเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสมุนไพร สัตว์ และแร่ธาตุ ที่มีคุณสมบัติเป็นยาบรรเทาโรคต่าง ๆ จำนวนมากกว่า 1,000 ชนิด พร้อมมีคำอธิบายและภาพประกอบอีกด้วย

ส่วนทางฝั่งตะวันตก Ibn Sina หรือรู้จักกันว่า Avicenna นายแพทย์และนักปรัชญาชาวเปอร์เซียคนสำคัญของยุค ได้จดบันทึกและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับยารักษาเป็นชุดหนังสือจำนวนทั้งหมด 5 เล่มในชื่อว่า Canon of Medicine โดยอธิบายถึงหลักพื้นฐานทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรค สูตรการปรุงยา ฯลฯ ภายหลังหนังสือนี้กลายเป็นตำราเรียนด้านการแพทย์ของสถานศึกษาในแถบยุโรปจนถึงสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 18 เลยทีเดียว

ภาพวาด Avicenna และตัวอย่างส่วนหนึ่งของหนังสือ Canon of Medicine

ปี ค.ศ. 1537

การวิจัยทางคลินิกครั้งนี้เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญท่ามกลางสมรภูมิรบระหว่างฝรั่งเศสและจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ โดยในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 แพทย์ส่วนใหญ่ต่างเล่าเรียนและยึดถือวิธีการรักษาโรคต่าง ๆ ตามตำราของ Giovanni da Vigo ศัลยแพทย์ประจำตัวของสมเด็จพระสันตะปาปาจูเลียสที่ 2 ซึ่งได้ถ่ายทอดความรู้เอาไว้ว่า แผลถูกยิงนั้นจะติดพิษจากดินปืนจึงต้องใช้น้ำมันเดือด ๆ ราดลงไปเพื่อป้องกันการติดเชื้อและห้ามเลือด (Cauterization)

อย่างไรก็ตาม เมื่อ Ambroise Pare ศัลยแพทย์ชาวฝรั่งเศสอายุเพียง 27 ปี เข้าประจำการในสนามรบ เขากลับพบว่าไม่มีน้ำมันเหลือพอสำหรับใช้รักษาบาดแผลให้นายทหารจำนวนมาก Ambroise Pare จึงตัดสินใจปรุงยาที่ทำขึ้นจากไข่แดง น้ำมันกุหลาบ และน้ำมันสน ก่อนจะนำไปทาลงบนบาดแผลจากกระสุนปืนโดยรู้สึกกังวลใจตลอดทั้งคืนว่าอาการของผู้ป่วยจะตอบรับกับยารักษาตัวใหม่นี้อย่างไรบ้าง

วันต่อมา Ambroise Pare ตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อเดินทางไปตรวจเยี่ยมนายทหารเหล่านั้น และต้องรู้สึกตื่นเต้นยินดีเมื่อพบว่าคนไข้ของเขาเจ็บปวดน้อยลงกว่าเดิมอย่างมาก นอกจากนี้ บาดแผลก็ยังไม่อักเสบติดเชื้อหรือบวมพอง แถมยังสามารถนอนหลับพักผ่อนได้ ซึ่งตรงข้ามกับกลุ่มทหารที่ผ่านรักษาด้วยน้ำมันร้อนอย่างสิ้นเชิง

ปี ค.ศ. 1747

นายแพทย์ชาวสกอตแลนด์ James Lind เป็นผู้บุกเบิกการวิจัยทางคลินิกที่มีกลุ่มควบคุม (Controlled Clinical Trial) เป็นครั้งแรกของโลก ขณะที่ทำงานเป็นแพทย์ประจำอยู่บนเรือนั้น เขาสังเกตว่าลูกเรือจำนวนมากมักป่วยเป็นโรคลักปิดลักเปิด (Scurvy) โดยมีอาการเลือดออกตามที่ต่าง ๆ เช่น รูขุมขน เหงือก ภายในกล้ามเนื้อ รวมถึงอาจเป็นโลหิตจางและโรคแทรกซ้อนอื่นอย่างร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต 

James Lind ต้องการทราบสาเหตุของโรคและค้นหาวิธีรักษา เขาจึงริเริ่มจัดการวิจัยโดยคัดเลือกลูกเรือที่ป่วยเป็นโรคลักปิดลักเปิดและมีอาการคล้ายกันมาทั้งหมด 12 คน ก่อนจะแบ่งพวกเขาออกเป็น 6 กลุ่ม กลุ่มละ 2 คน โดยให้รับประทานอาหารแตกต่างกันดังต่อไปนี้

  1. ไซเดอร์ (Cider) ปริมาณ 0.95 ลิตรต่อวัน
  2. ยา Elixir of Vitriol ซึ่งปรุงขึ้นจากกรดกํามะถันและแอลกอฮอล์ จำนวน 25 หยด 3 ครั้งต่อวัน
  3. น้ำทะเลปริมาณ 284 มิลลิลิตรต่อวัน
  4. ยาที่ปรุงจากการนำกระเทียม หัวไชเท้า เมล็ดมัสตาร์ด สารสกัดจากต้น Perum Balsam เม็ดมดยอบ (Myrrh) มาบดและผสมกับน้ำ 3 ครั้งต่อวัน
  5. น้ำส้มสายชู 2 ช้อนโต๊ะ 3 ครั้งต่อวัน
  6. ส้ม 2 ลูก และเลมอน 1 ลูก 1 ครั้งต่อวัน

James Lind ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งการแพทย์ทหารเรือ และขวดยา Elixir of Vitriol ในสมัยก่อน

ผลการทดลองในหนึ่งสัปดาห์ถัดมาพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มสุดท้ายมีอาการดีขึ้นตามลำดับจนสามารถกลับมาทำงานและช่วยดูแลเพื่อนลูกเรือคนอื่น ๆ ได้อีกด้วย การวิจัยทางคลินิกนี้นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญที่ส่งผลให้วงการแพทย์ค้นพบวิธีป้องกันโรคลักปิดลักเปิดที่เคยคร่าชีวิตผู้คนโดยเฉพาะกะลาสีเรือกว่า 2 ล้านนายในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 16 – 18

ช่วงปี ค.ศ. 1800 เป็นต้นไป

กาลเวลาล่วงเลยผ่านไปอีกเกือบหนึ่งศตวรรษกว่าที่แวดวงการวิจัยทางคลินิกจะเกิดนวัตกรรมใหม่ที่มีความสำคัญต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน นั่นก็คือ Placebo หรือ ยาหลอก ซึ่งหมายถึงเวชภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นให้ดูเหมือนยารักษาแต่แท้จริงแล้วกลับไม่ออกฤทธิ์หรือมีผลอะไรเกี่ยวเนื่องกับการรักษาเลย

การนำ Placebo มาใช้สำหรับงานวิจัยทางคลินิกเป็นครั้งแรก ๆ เกิดขึ้นเมื่อ John Haygarth นายแพทย์ชาวอังกฤษ ต้องการทดสอบว่า “Perkins Tractors” อุปกรณ์แท่งเหล็กขนาดกะทัดรัด 2 ด้ามที่ประดิษฐ์ขึ้นโดย Elisha Perkins นายแพทย์ชาวอเมริกัน และกลายเป็นที่นิยมไปทั่วแถบตะวันตกนั้นสามารถนำ “กระแสไฟฟ้าที่เป็นพิษร้าย” ออกจากร่างกายเพื่อรักษาโรคต่าง ๆ เช่น โรคข้ออักเสบ โรคลมชัก อาการอักเสบ ฯลฯ ได้จริงหรือไม่ 

John Haygarth เริ่มต้นโดยนำวัสดุที่เป็นฉนวนไฟฟ้าอย่างไม้มาสร้างอุปกรณ์ที่มีลักษณะคล้ายกับ Perkins Tractors แล้วนำไปทดสอบกับผู้เข้าร่วมการวิจัย 5 คน ส่วนอีก 5 คน นั้นจะได้รับการรักษาด้วย Perkins Tractors ของจริง ผลลัพธ์ปรากฎว่า ความเจ็บปวดจากโรคข้ออักเสบในผู้ป่วยกลุ่มแรกจำนวนมากถึง 4 ใน 5 คน ลดลงได้เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม นายแพทย์ท่านนี้ยอมรับว่าแม้อุปกรณ์ดังกล่าวจะอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงแต่ก็มีประโยชน์ที่อาจเกิดจาก “ความเชื่อและศรัทธา” ของคนไข้ต่อวิธีรักษานี้

ผู้ป่วยหลายคนในสมัยนั้นเชื่อว่าเมื่อนำส่วนปลายของ Perkins Tractors มาแนบบริเวณจุดที่เจ็บปวดเป็นเวลา 20 นาทีแล้วอาการป่วยจะหายไป

คริสต์ศตวรรษที่ 20

การวิจัยทางคลินิกในยุคสมัยใหม่นี้เริ่มมีระเบียบแบบแผนและเป็นไปตามขั้นตอนทางวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่าง เช่น  ในปี ค.ศ. 1943 – 1944 สภาวิจัยทางการแพทย์ หรือ Medical Research Council (MRC) ประเทศอังกฤษ ได้บุกเบิกการวิจัยทางคลินิกแบบ Double-Blind ครั้งแรกของโลกซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 1,000 คน โดยต้องการทดสอบว่า พาทูลิน (Patulin) สารพิษจากเชื้อราที่มักเติบโตบนผลแอปเปิล สามารถใช้เป็นยารักษาไข้หวัดได้หรือไม่ 

นอกจากนี้ ในปี  ค.ศ. 1946 นักสถิติชื่อว่า Austin Bradford Hill จากหน่วยงานเดิมของประเทศอังกฤษ ยังเป็นผู้ริเริ่มดำเนินการวิจัยทางคลินิกแบบสุ่ม หรือ Randomized Control Trial เป็นครั้งแรกของโลกอีกด้วย โดยศึกษาและค้นพบว่ายาปฏิชีวนะ Streptomycin มีประสิทธิภาพสำหรับใช้รักษาวัณโรคปอดได้เป็นอย่างดี ความสำเร็จครั้งนี้กลายเป็นรากฐานสำคัญของศาสตร์ด้านการออกแบบงานวิจัยทางคลินิกจนถึงปัจจุบัน




ร่วมงานกับ คลินิเซอร์ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ของไทย 

เราอยากขอชวนเพื่อน ๆ ทั้งจากสายเภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ รวมถึงอาชีพอื่น ๆ ที่สนใจให้มาร่วมงานกับ คลินิเซอร์ บริษัท Contract Research Organization (CRO) อันดับต้น ๆ ของประเทศไทยที่ได้รับการสนับสนุนโดยตรงทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ รวมไปถึง Bualuang Ventures บริษัทในเครือของธนาคารกรุงเทพ และ มหาวิทยาลัยชื่อดัง 8 แห่งของไทย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น  

วัฒนธรรมการทำงานที่นี่มีกลิ่นอายคล้ายบริษัท Startup ที่เปิดรับฟังความคิดเห็นใหม่ ๆ จากพนักงานทุกระดับ และยังได้ประสบการณ์ทำงานใกล้ชิดกับผู้บริหารที่พร้อมแลกเปลี่ยนความรู้และช่วยเหลือให้คุณเก่งขึ้นในทุก ๆ วัน 

หากนักศึกษาหรือเพื่อน ๆ คนไหนสนใจมาช่วยกันยกระดับนวัตกรรมทางการแพทย์ของประเทศไทยร่วมกับ คลินิเซอร์ สามารถส่งประวัติการทำงาน (CV) มาที่อีเมล hr@clinixir.com นอกจากนี้ ยังสามารถติดตามเฟซบุ๊ก และ LinkedIn ของเราเพื่ออัปเดตข่าวสารและตำแหน่งงานที่กำลังเปิดรับสมัครอยู่ได้อีกด้วย 

ออฟฟิศของ คลินิเซอร์ ตั้งอยู่ใน Asia Centre  
เดินทางสะดวกใกล้รถไฟฟ้า BTS ช่องนนทรีใจกลางย่านสีลม
งานเลี้ยงปีใหม่ 2021 ของ คลินิเซอร์ เรื่องเล่นเราก็จริงจังไม่แพ้เรื่องงาน

Share:

Related Research Updates